Cover ไหว้พระ 9 วัด-1

การทำบุญเข้าวัดเป็นสิ่งที่คนไทยประพฤติปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะคนสมัยก่อนหรือคนในยุคนี้เมื่อมีความไม่สบายอกสบายใจ ทุกข์กายทุกใจก็มักจะหันหน้าเข้าวัดเพื่อสงบจิตสงบใจ เพราะการเข้าวัดช่วยให้จิตใจผ่อนคลายความทุกข์ลงได้บ้าง และเมื่อถึงวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนาคนไทยก็จะนิยมเข้าวัดเพื่อทำบุญ เพราะคนไทยเชื่อว่าการทำบุญจะช่วยส่งผลบุญให้พบเจอแต่ความสุขความเจริญในชีวิต ช่วงเทศกาลปีใหม่เองก็เช่นกันผู้คนนิยมไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เป็นปีแห่งการเริ่มต้นใหม่ที่ดี บทความนี้ทีมงานเลยจะมาแนะนำสถานที่ ไหว้พระ 9 วัดเสริมบุญย่านกรุงเทพฯ กันค่ะ

ไหว้พระ 9 วัด 1

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

วัดพระแก้วหรือชื่อเรียกเต็มว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของคนไทยที่สร้างขึ้นด้วยศิลปะที่งดงาม เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ. 2325 วัดพระแก้วเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกตซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองศิลปะเชียงแสนตอนต้น ทำจากหินหยกสีเขียวเข้มทึบแสงปางสมาธิ เชื่อกันว่าหากได้ไปไหว้พระแก้วมรกตแก้วแหวนเงินทองจะไหลมาเทมา นอกจากนี้ยังมีปราสาทพระเทพบิดรซึ่งเป็นปราสาทจตุรมุขประดับกระเบื้องเคลือบองค์เดียวในประเทศไทย ซึ่งภายในมีพระบรมรูปหล่อของพระมหากษัตริย์ทั้ง 9 พระองค์ให้เข้ากราบไหว้อีกด้วย

ที่ตั้ง: ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร 10200
ค่าเข้าชม: ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 500 บาท
เวลาเปิด  ปิด: ทุกวันเวลา 08.30 – 15.30 น.

ไหว้พระ 9 วัด 2

วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)

วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร หรืออีกชื่อนิยมเรียกว่า วัดแจ้ง เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้งจึงพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า วัดแจ้ง จุดเด่นของวัดอรุณฯ คือ พระปรางค์ ที่ประดับตกแต่งไปด้วยกระเบื้องอย่างประณีต และยังมีประติมากรรมยักษ์ทศกัณฐ์ (สีเขียว) และยักษ์สหัสเดชะ (สีขาว) ยืนเฝ้าประตูทางเข้าพระอุโบสถ โดยมีพระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก เป็นพระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ โดยเชื่อว่าหากได้ไหว้พระปรางค์วัดอรุณฯ จะทำให้ชีวิตรุ่งโรจน์เป็นมงคล

ที่ตั้ง: เลขที่ 34 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
ค่าเข้าชม: คนไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 100 บาท
เวลาเปิด  ปิด: ทุกวันเวลา 8:00 – 18:00 น.

ไหว้พระ 9 วัด 3

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร (วัดระฆัง)

วัดระฆัง เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ วัดบางว้าใหญ่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ยกให้เป็นพระอารามหลวง และเป็นที่จำวัดของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ครั้งหนึ่งเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ มาถวายผ้าพระกฐินได้มีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ว่าไปวัดไหนก็ไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที พระองค์จึงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธานองค์นี้ จึงเป็นที่มาของ พระประธานยิ้มรับฟ้า การไหว้พระที่วัดระฆังจะต้องตีระฆังปิดท้าย เพื่อจะได้มีชื่อเสียงโด่งดังก้องกังวานดุจระฆัง ดังความเชื่อที่ว่าไหว้พระวัดระฆัง แล้วจะมีชื่อเสียงโด่งดังตลอดปี


ที่ตั้ง: 250 ถ. อรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700
ค่าเข้าชม: ไม่เสียค่าเข้าชมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
เวลาเปิด  ปิด: ทุกวันเวลา 08.00 – 16.00 น.

ไหว้พระ 9 วัด 4

วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร

“วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร” ตั้งอยู่ตรงข้ามกับถนนข้าวสารสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยภายในพระอุโบสถหลังใหญ่ประดิษฐานพระประธาน “พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์” หรือที่เรียกว่า “หลวงพ่อปู่” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย  รอบ ๆ หลวงพ่อปู่มีพระพุทธรูป 16 องค์ล้อมรอบหมายถึงพุทธคุณชนะศัตรู คนส่วนใหญ่เชื่อว่าหากมากราบไหว้หลวงพ่อปู่ และสักการะสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จะทำให้มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง 


ที่ตั้ง: 77 ถนนจักรพงษ์ แขวง ชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
ค่าเข้าชม: ไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
เวลาเปิด – ปิด: ทุกวันเวลา 08:00 – 16:00 น.

ไหว้พระ 9 วัด 5

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

หากกล่าวถึง “วัดโพธิ์” หรือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” หลายคนจะต้องนึกถึงชื่อเสียงในเรื่องของการนวดแผนโบราณ และปัจจุบันก็ยังเปิดสอนการนวดแผนโบราณอยู่ โดยวัดโพธิ์เปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจากเป็นที่รวมสรรพวิชาหลายแขนง ในปี 2551 องค์กรยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ภายในวัดยังมีรูปปั้นฤๅษีดัดตนในอิริยาบถต่างๆ ทั้งหมด 24 ท่า คนที่นิยมไปไหว้วัดโพธิ์มีความเชื่อในเรื่อง “ขอพรให้มีชีวิตที่ร่มเย็นเหมือนอยู่ใต้ร่มโพธิ์ร่มไทร” รวมทั้งความเชื่อการขอพรในเรื่องของความรักจากพระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระพุทธไสยาสน์


ที่ตั้ง: 2 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
ค่าเข้าชม: คนไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 100 บาท
เวลาเปิด – ปิด: ทุกวันเวลา 08.00 – 16.00 น.

ไหว้พระ 9 วัด 6

วัดสุทัศนเทพวราราม

วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 8 โดยสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดแล้วพระราชทานนามว่า วัดมหาสุทธาวาส  แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงทรงดำเนินงานต่อและเรียกกันว่า วัดพระโต วัดพระใหญ่ หรือ วัดเสาชิงช้า จนก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 และพระราชทานนามว่า วัดสุทัศนเทพวราราม ภายในวัดมีจุดเด่นตรงพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เชื่อกันว่าหากได้มาไหว้พระศรีศากยมุนีจะเสริมสิริมงคล และใครที่กำลังอยู่ในวัยเรียนหากได้มากราบไหว้พระสุนทรีวาณี เชื่อว่าจะช่วยให้เกิดปัญญา มีสติปัญญาดี


ที่ตั้ง: 146 ถนนบำรุงเมือง วัดราชบพิธ พระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
ค่าเข้าชม: ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชม 20 บาท
เวลาเปิด  ปิด: ทุกวันเวลา 08.00 – 16.00 น.

ไหว้พระ 9 วัด 7

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

“วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร” มีชื่อเดิมอยู่หลายชื่อด้วยกัน “วัดแหลม” หรือ “วัดไทรทอง” จนในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระราชทานนามว่า “วัดเบญจบพิตร” ซึ่งหมายถึงวัดของเจ้านาย 5 พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงได้โปรดเกล้าให้สร้างสวนดุสิตเป็นพระราชวังและพระราชทานนามว่า “พระราชวังดุสิต” และทรงโปรดเกล้าให้ขยายวัดเบญจบพิตรพร้อมสถาปนาเมื่อที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2442 พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดเบญจมบพิตร” ซึ่งหมายถึง “วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5” ต่อมาพระองค์ได้ถวายที่ดินซึ่งขนานนามว่า “ดุสิตวนาราม” ให้เป็นที่วิสุงคามสีมาเพิ่มเติมแก่วัดเบญจมบพิตร โดยโปรดให้เรียกนามรวมกันว่า “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมงดงามและโดดเด่น จุดเด่นของวัดเบญจมบพิตรฯ คือมีการประดับด้วยหินอ่อนจากอิตาลีทำให้เป็นที่รู้จักกันของต่างชาติ และเรียกว่า “Marble Temple” ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธชินราชที่จำลองมาจากวัดใหญ่จังหวัดพิษณุโลก เชื่อกันว่าหากได้มากราบไหว้จะทำให้เรื่องหน้าที่การงานราบรื่น ประสบความสำเร็จในชีวิต


ที่ตั้ง: 69 ถนนพระรามที่ 5 แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ค่าเข้าชม: ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชม 50 บาท
เวลาเปิด – ปิด: ทุกวันเวลา 8.30 – 17.30 น.

ไหว้พระ 9 วัด 8

วัดราชาธิวาสวิหาร

“วัดราชาธิวาสวิหาร” มีความหมายว่า “วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา” โดยเป็นวัดแรกที่ถือกำเนิดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายจึงถือเป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุต ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร ภายในวัดโดดเด่นด้วยพระอุโบสถซึ่งเป็นทรงขอมคล้ายนครวัด ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นอกจากนี้ ภายในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง บอกเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก โดยเชื่อกันว่าการมาไหว้พระที่วัดแห่งนี้จะทำให้มีลาภยศที่ยิ่งใหญ่ เหมาะสำหรับใครที่อยากไปไหว้พระขอและมีความหวังในการได้เลื่อนขั้น มั่นคงในหน้าที่การงาน 


ที่ตั้ง: 3 ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ค่าเข้าชม: ไม่เสียค่าเข้าชมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
เวลาเปิด – ปิด: ทุกวันเวลา 07.00 – 18.00 น.

ไหว้พระ 9 วัด 9

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

“วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร” หรือ “วัดซำปอกง” เป็นวัดเก่าแก่ย่านฝั่งธนบุรีสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารนี้ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 3 และยังทรงสร้างพระวิหารหลวง รวมถึงได้พระราชทานพระประธานคือพระพุทธไตรรัตนนายก หรือ “หลวงพ่อโต” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยองค์ใหญ่ที่ชาวจีนนับถือมาก จนมีชื่อเรียกแบบจีนว่า “ซำปอฮุดกง” หรือ “ซำปอกง” เชื่อกันว่าหากได้มาไหว้หลวงพ่อซำปอกงจะโชคดีมีชัย ปลอดภัยตลอดปี รวมทั้งจะขอเรื่องการงาน การเรียน การเงิน ค้าขายร่ำรวย และการกราบไหว้พระประธานปางปาลิไลยก์ในพระอุโบสถ จะช่วยเสริมให้พบมิตรสหายที่ดีเหมือนดั่งชื่อวัดอีกด้วย 


ที่ตั้ง: 371 ซอย อรุณอมรินทร์ 6 เเขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600
ค่าเข้าชม: ไม่เสียค่าเข้าชม
เวลาเปิด – ปิด: ทุกวันเวลา 08.00 – 16.00 น.

เป็นยังไงกันบ้างคะกับ 9 วัดดังย่านกรุงเทพฯ ที่นำมาแนะนำกัน ท่านใดอยากลองไปกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลก็ลองไปทัวร์ให้ครบดูค่ะ แต่ทั้งนี้เราควรหมั่นสร้างสมบุญเอาไว้ให้มาก ๆ หากไม่หมั่นสร้างบุญใหม่บุญเก่านั้นก็มีวันหมดไปได้ค่ะ ท่านสามารถเข้าไปติดตามอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่เว็บไซต์ ศูนย์วัตถุมงคล คู่บุญคู่บารมี หรือจะเข้าไปกดติดตามได้ที่เพจ ศูนย์วัตถุมงคล คู่บุญคู่บารมี เรายังมีบทความที่น่าสนใจให้ติดตามกันอีกมากมายค่ะ  

Categories: